จุฬาฯ วิจัย “ภาวะฟันหาย” ในคนไทย เหตุจากความผิดปกติของยีนถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม

งานวิจัยทางทันตกรรม จุฬาฯ เผยคนไทยมีภาวะฟันหายมากกว่าต่างชาติ ในคนไทย 100 คน จะมีผู้ที่มีภาวะฟันหาย 9 คน หนึ่งปัจจัยสำคัญมาจากความผิดปกติของยีนซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

“ฟันผุ เหงือกอักเสบ มีแผลในช่องปาก” เป็นความผิดปกติในช่องปากที่หลายคนคุ้นเคยและได้รับการรักษาจากทันตแพทย์กันอยู่เป็นประจำ แต่ภาวะ “ฟันหาย” เป็นความผิดปกติที่น้อยคนจะรู้จัก แต่ก็พบได้ในคนไทยจำนวนไม่น้อย จากสถิติทั่วโลกและในเอเชีย พบผู้ที่มีภาวะฟันหาย จำนวน 6% ในขณะที่อุบัติการณ์ของภาวะนี้ในคนไทยมีมากกว่านั้น  จากงานวิจัยที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยพิษณุโลกและมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบคนไทยมีภาวะฟันหายถึง26% และ 13% ตามลำดับ

ทพญ.ชรินญา กาญจนเสวี
มหาบัณฑิตคณะทันตแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ภาวะฟันหายในคนไทยเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือไม่ และจากยีนตัวใด? เป็นโจทย์วิจัยของ ทพญ.ชรินญา กาญจนเสวี มหาบัณฑิตคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาเรื่อง “ความชุกและลักษณะเฉพาะของภาวะฟันหายในผู้ป่วยไทยและการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาวะฟันหายในครอบครัวไทย” ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของนิสิตระดับปริญญาโท ปี 2564 สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ จากจุฬาฯ

 

ภาวะ “ฟันหาย” และผลกระทบต่อสุขภาพ

ภาวะฟันหายหมายถึงการไม่มีฟันตั้งแต่กำเนิด โดยไม่พบหน่อฟันแท้ (tooth bud) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ในกระดูกขากรรไกรภาวะฟันหายตรวจพบได้จากการเอกซเรย์ฟันโดยทันตแพทย์เท่านั้น

การที่ฟันหายไปหนึ่งซี่ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีภาวะฟันหายแล้ว ที่ผ่านมา งานวิจัยของไทย ส่วนใหญ่พบภาวะฟันหายบริเวณฟันกรามน้อยล่างซี่ที่สอง ทำให้ไม่มีฟันกรามในการเคี้ยวอาหาร นอกจากนี้ การหายของฟันยังสัมพันธ์กับความผิดปกติที่พบในช่องปาก เช่น ฟันหน้าซี่เล็กกว่าปกติ” ชรินญาอธิบาย

ภาวะฟันหายเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรมและสภาวะแวดล้อม เช่น เมื่อแม่ตั้งครรภ์มีการติดเชื้อ ทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ หรือทานยาที่ส่งผลต่อการสร้างหน่อฟันของลูก เป็นต้น

“คนปกติมีฟันน้ำนม 20 ซี่ ฟันแท้ 32 ซี่ ภาวะฟันหายจะเกิดในฟันแท้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยเคี้ยวอาหารได้ไม่เต็มร้อย นอกจากนี้ยังมีผลต่อโครงสร้างใบหน้าที่ผิดปกติ ส่งผลต่อสภาพจิตใจและการดำเนินชีวิต จากงานวิจัยพบผู้ป่วยที่มีฟันแท้หายมากถึง 12 ซี่” ทพญ.ชรินญากล่าว

 

กระบวนการวิจัยภาวะฟันหาย

งานวิจัยทางทันตกรรมชิ้นนี้ใช้เวลา 3 ปี (ระหว่างปี 2561 – 2563) โดยแบ่งเป็นการวิจัยความชุกของภาวะฟันหาย โดยศึกษาจากฟิล์มเอกซเรย์ฟันของผู้ป่วยที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จำนวน 1,090 ตัวอย่าง

ส่วนการวิจัยด้านพันธุกรรมเป็นการศึกษาโดยการสุ่มจากผู้ป่วยจำนวน 5 ครอบครัว เป็นจำนวน 9 ตัวอย่าง เพื่อศึกษาถึงการเชื่อมโยงความผิดปกติของยีนกับคนในครอบครัว

“เราทำการถอดรหัสพันธุกรรมโดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการหาลำดับนิวคลีโอไทด์ของดีเอ็นเอ หรือ Next Generation Sequencing  ใช้เวลานานราว 1 – 2 เดือน เมื่อได้ผลแล้วก็นำมาตรวจวิเคราะห์หาความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางจีโนมิกส์และทันตกรรมแม่นยำ และประมวลผลเทียบเคียงระหว่างฐานข้อมูลของไทยและของต่างชาติ”

พบยีนที่ก่อภาวะฟันหายในคนไทย

ผลการวิจัยชี้ว่าความชุกของภาวะฟันหายในคนไทยมีจำนวน 9% ซึ่งน้อยกว่างานวิจัยที่เคยทำมาในประเทศไทยแต่มากกว่าความชุกของภาวะฟันหายของคนทั่วโลกและในเอเชีย

“ด้านพันธุกรรม ผลการวิจัยพบว่าผู้ที่มีภาวะฟันหายทั้ง 5 ครอบครัวมีความผิดปกติของยีนตัวเดียวกันคือยีน WNT10A ซึ่งเป็นยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างฟันและเป็นหนึ่งในยีนอีกหลายตัวที่เคยมีรายงานความผิดปกติในผู้ที่มีภาวะฟันหาย”  ทพญ.ชรินญาเผย

ผลการวิจัยในครั้งนี้เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าความผิดปกติของยีน WNT10A ที่ตำแหน่งนี้พบได้มากในคนไทยและคนเอเชีย เมื่อเทียบกับฐานข้อมูลในชนชาติอื่น นอกจากนั้นยังพบความผิดปกติที่ตำแหน่งใหม่ เป็นการขยายองค์ความรู้ด้านพันธุกรรมในผู้ที่มีภาวะฟันหาย

แม้จะเป็นภาวะที่เกิดได้จากพันธุกรรม แต่ก็มีแนวทางบำบัดรักษาเช่น ใส่ฟันปลอมประเภทต่างๆ ผ่าตัดฝังรากฟันเทียม ฯลฯ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด

“ผู้ที่มีภาวะฟันหาย หรือเด็กที่ฟันน้ำนมหลุดไปแล้วแต่ฟันแท้ไม่ขึ้น พ่อแม่ควรพามาพบทันตแพทย์โดยเร็วเพื่อทำการเอกซเรย์ฟันและวางแผนการรักษาที่ทันท่วงทีต่อไป” ทพญ.ชรินญาแนะ

ผู้ที่มีภาวะฟันหายหรือมีความผิดปกติทางช่องปากสามารถติดต่อนัดหมายเพื่อรับการรักษาทางทันตกรรมได้ที่ โรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ชั้น 1 อาคารสมเด็จย่า 93 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โทร. 0-2218-8705 และรับคำปรึกษาที่ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางจีโนมิกส์และทันตกรรมแม่นยำ ภาควิชาสรีรวิทยา ชั้น 4 อาคาร 14 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โทร. 0-2218-8695

Website: https://www.research.chula.ac.th/th/organization/4282/

หรือ http://www.dent.chula.ac.th/hospital/service.php